Saturday, July 22, 2006

 
Suthichai on Myanmar and Vietnam
I just lift this from the web. It is definitely worth reading.. Anyway, I think it's time to write about education, which is one of the main motivations for this blog coming into being actually. Now that there's some clarity in Thai politics (this is not the of this drama yet though, just an intermission).

วันไหนพม่า เวียดนามเข้าสู่ประชาธิปไตย ศรีธนญชัยไทยจะพ่ายแพ้โดย สุทธิชัย หยุ่น นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2549
ที่เขียนถึงเวียดนามมาหลายตอนในคอลัมน์นี้ ก็เพื่อจะให้คนไทยเราได้เห็นว่าเพื่อนบ้านหลายชาติของเรา กำลังเดินหน้าไปอย่างขึงขังและเข้มแข็ง ปรับจุดแข็งของเขาให้เข้มข้นขึ้น และวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของตัวเอง พร้อมกับจัดทัพให้สามารถสู้กับการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่มองเวียดนามแล้วอย่าลืมเหลือบไปดูพม่าด้วย เพราะผมเชื่อของผมจากการสังเกตและติดตามความเคลื่อนไหวของสองประเทศนี้ ว่าวันไหนเขาปรับระบบการปกครองให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เมื่อไรที่เขาเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างมีหลักมีเกณฑ์ พลังแฝงของประชาชนของเขาจะสามารถแสดงออกอย่างเต็มที่มากกว่าที่เห็นอยู่ปัจจุบัน และเมื่อนั้นแหละ เขาจะก้าวกระโดดล้ำหน้าไทยเราไปอย่างน่าหวาดหวั่น
ทั้งเวียดนามและพม่ามี “คน” ที่ขยัน อึด บากบั่น มุ่งมั่น และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งที่เขายอมรับว่าเขาไม่รู้
สังเกตไหมว่าคนไทยเราไม่เคยยอมรับว่าเราจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม สังเกตไหมว่าเด็กไทยเราถูก “โอ๋” และ “เอาใจ” จนทำอะไรเองไม่ค่อยจะเป็น
เดินทางไปเวียดนามและพม่าดูซิครับ จะเห็นว่าเยาวชนของเขาอ่านหนังสือมากกว่าเด็กบ้านเรา
สัมผัสคนเวียดนามและพม่าแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า เขารู้ว่าเขาต้องเร่งความเร็ว ต้องสร้างพื้นฐานใหม่ และต้องเรียนรู้จากคนอื่นโดยไม่กลัวเสียหน้าหรืออับอายใคร
คนไทยเราต่างหากที่มี “ลีลา” และ “ฟอร์ม” มากเกินไป ความพยายามจะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้นั้นถูกขัดขวางโดย “ความหน้าบาง” ของคนไทยเองที่ไม่กล้าถาม เพราะกลัวว่าการถามจะเป็นการ “แสดงความโง่” ของตัวเอง
ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและพม่า เขาถามทุกเรื่องที่เขาอยากรู้ เพราะเขาไม่กลัวว่าใครจะคิดว่าเขาโง่ เพราะพอเขาถามแล้วได้คำตอบจากผู้ที่รู้ วันรุ่งขึ้นเขาก็กลายเป็นคนฉลาดอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ถาม หรือไม่กล้าถาม ก็ยังจะต้องโง่ต่อไป
คนไทยเราไม่กลัวโง่ แต่กลัวว่าคนอื่นจะคิดว่าเราโง่ และนี่แหละคือที่มาของความไม่ฉลาดของเราทั้งหลายทั้งปวง
การแสวงหาความรู้เพื่อสร้างให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ knowledge-based society นั้นจะต้องเข้าใจปัญหาของการรู้และการไม่รู้เสียก่อน
ก่อนอื่นคนไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพ I don’t know what I don’t know นั่นคือไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรบ้าง
นั่นคือความโง่ขั้นแรก
ต่อมาก็เป็น I don’t know what I already know ซึ่งแปลว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองรู้อะไรบ้าง
เป็นความโง่ขั้นที่สอง
และจะต้องแก้ไขด้วยการสร้างความฉลาดให้กับตัวเอง ด้วยการทำทุกอย่างเพื่อให้กลายเป็น I know what I don’t know
ซึ่งหมายความว่าเราต้องสร้างฐานความรู้ของเราจนถึงจุดที่เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรบ้าง
คนที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้นั้นโง่อยู่แล้ว แต่คนที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรบ้างนั้น เป็นความเขลาที่ให้อภัยได้ยาก
จากนั้นเราก็ต้องก้าวไปสู่ความฉลาดอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ I know what I know ซึ่งแปลว่าเรารู้ว่าเรารู้อะไรบ้าง และต้องตอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่ารู้อะไรที่ว่ารู้ ไม่ใช่แกล้งฉลาดว่ารู้ทั้งๆ ที่ไม่รู้
มองเพื่อนบ้านแล้วเขารู้ว่าเขายังไม่รู้อะไร เขาจึงก้าวล่วงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
วันไหนที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าถูกโค่น วันไหนที่รัฐบาลเวียดนามยอมรับว่าเสรีภาพของการแสดงความเห็นของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญต่อการสร้างชาติ และวันไหนที่ทั้งพม่าและเวียดนามก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งการให้ภาคประชาชนเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย เมื่อนั้นพลังแห่งความขยัน มุ่งมั่นและเอกภาพ จะผลักดันให้เขาพุ่งพรวดพราดล้ำหน้าเราไปหลายขุม
เพราะเราอ้างความเป็นประชาธิปไตยเพียงเพื่อได้อำนาจมาสร้างความร่ำรวยให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว
และคนปกครองบ้านเมืองเรานั้น ส่วนใหญ่เป็น “ศรีธนญชัย” ที่เข้าข่าย They think they know but they don’t know what they don’t know.
เสียกรุงครั้งหน้าจะไม่มีเสียงปืนใหญ่ข้างนอกรั้วกำแพงเตือนก่อนด้วยซ้ำไป มารู้อีกทีก็อยู่ใน blog ของอินเทอร์เน็ตแล้ว
ทราบแล้วเปลี่ยน.

Comments: Post a Comment



<< Home

This page is powered by Blogger. Isn't yours?